ที่มาโครงการ

  • 13 พ.ย. 2563
  • 7,073
ที่มาโครงการ
ที่มาโครงการ
โครงการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด
เป้าหมาย
มีการกำหนดเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจัดทำ One Marine Chart
ค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุภายในปี 2565
ต้นฉบับแผนที่การจำแนกเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาพรวมของพื้นที่ทางทะเล
สถานการณ์ในภาพรวมของเรื่อง
และประเด็นปฏิรูป
 ประเทศไทย มีจังหวัดที่มีขอบเขตติตทะเล 23 จังหวัด  แบ่งเป็นทะเลฝั่งตะวันตก  ได้แก่ ทะเลอันดามัน รวมไปถึงช่องแคบมะละกา 6 จังหวัด และทะเลฝั่งตะวันออก ได้แก่ ทะเลฝั่งอ่าวไทย 17 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจังหวัดที่มีการกำหนดเขตจังหวัดในการบริหารทรัพยากรจากการแบ่งเขตทางทะเลได้อย่างชัดเจนเพียง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตอ่าวไทยตอนใน
ทั้งนี้ อีก 16 จังหวัดที่มีขอบเขดติดทะเลยังไม่มีแผนที่การใช้ประโยชน์ทางทะเลที่ชัดเจน ส่งผลให้ภาพรวมการใช้ประโยชน์และการแบ่งเขตทางทางทะเลของประเทศไทยยังขาดความชัดเจน ดังนั้น การจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ทางทะเล และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลของไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนที่ภาพรวมของประเทศและแผนที่เฉพาะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในภารกิจที่รับผิดชอบต่อไป และเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการสร้างความสมดุลของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้เป็นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไปในอนาคต
การดำเนินงานที่ผ่านมา
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันการกำหนดเขตจังหวัดทางทะเลของประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมหารือกับหน่วยงานและจังหวัดที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อยุติในการตกลงเรื่องเขตจังหวัดทางทะเลของทั้ง 23 จังหวัดแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันของจังหวัดต่างๆทั้ง 23 จังหวัด เพื่อที่จะนำรายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าวนั้นมาดำเนินการจัดทำกฎหมายในการแบ่งเขตทางทะเลของประเทศไทยรายจังหวัด คือ ร่างพระราชบัญญัติการกำหนดและปรับปรุงพื้นที่เขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล ซึ่งจะก่อให้เกิดความชัดเจนของเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเลทั้ง 23 จังหวัดชายทะเลต่อไป
ข้อมูลสรุปสุดท้ายจากการประชุม
ของคณะกรรมการกำหนดและปรับปรุง
พื้นที่เขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล
ข้อมูลสรุปสุดท้ายจากการประชุมของคณะกรรมการกำหนดและปรับปรุงพื้นที่เขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล ซึ่งตามมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 โดยมีนาย ณัฐภัทร สุวรรณประทีป หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย มาประกอบกัน มติที่ประชุม เห็นชอบต่อร่างแผนที่เขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล และบันทึกข้อตกลงรายคู่จังหวัด จำนวน 17 คู่จังหวัด และวินิจฉัยหาข้อยุติค่าพิกัดของคู่ จังหวัดที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จำนวน 4 คู่จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช / พังงา-ภูเก็ต / พังงา-กระบี่ และ กระบี่-ตรัง
มติสรุป 3 คู่จังหวัด ประกอบด้วย
1. สุราษฎร์ธานี - นครศรีธรรมราช
2. พังงา - ภูเก็ต
3. พังงา - กระบี่

เหลือ 1 คู่จังหวัด ได้แก่
4. กระบี่ - ตรัง ในส่วนของพื้นที่เกาะรอกในและเกาะรอกนอก โดยมีมติให้ขึ้นกับ จ.กระบี่ แต่ยังขาดความชัดเจนในส่วนของขอบเขตการลากแบ่งที่ชัดเจนรอบเกาะรอกในและเกาะรอกนอกเท่านั้น และมอบให้กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ พิจารณากำหนดร่างเส้นขอบเขตตามมาตรฐานต่อไป
สุราษฎร์ธานี - นครศรีธรรมราช
มติที่ประชุม : เห็นชอบให้ยึดค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ตามร่างแผนที่ที่กรมอุทกศาสตร์จัดทำลงบนแผนที่เดินเรือ ซึ่งกำหนดให้เป็นแผนที่ฐาน (Base Map) ซึ่งเส้นเขตการปกครองมีลักษณะตัดตรง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการทำงานของหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ ในทะเล ขอบเขตบริเวณพื้นที่เกาะผี ให้เป็นเส้นตรง
พังงา - กระบี่
มติที่ประชุม : มอบหมายให้กรมอุทกศาสตร์ดำเนินการจัดทำแผนที่โดยยึดประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่ อำเภอ ... จังหวัด ... ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลหลักในการจัดทำเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเลระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดกระบี่ โดยให้เกาะห้องอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดกระบี่
ภูเก็ต - พังงา
มติที่ประชุม : มอบหมายให้กรมอุทกศาสตร์ดำเนินการจัดทำแผนที่โดยยึดประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่ อำเภอ ... จังหวัด ... ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูล หลักในการจัดทำเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเลระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต โดย ให้เกาะแพ เกาะลา และเกาะละวะน้อย อยู่ในพื้นที่การปกครอง ของจังหวัดพังงา
กระบี่ - ตรัง
จังหวัดตรัง จังหวัดตรังไม่ขัดข้องในเรื่องเขตการปกครองของเกาะรอกนอก และเกาะรอกใน ซึ่งเป็นของจังหวัดกระบี่ แต่มีความประสงค์ให้กรมอุทกศาสตร์จัดทำร่างแผนที่ระหว่าง คู่จังหวัดตรังกับจังหวัดกระบี่บริเวณเกาะดังกล่าว โดยคำนึงถึงพื้นที่รับผิดชอบให้มีปรับขอบเขตให้มีความเท่าเทียมกัน และง่ายต่อการบริหารจัดการ
กรมอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ยินดีจะนำข้อเสนอของจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่มาปรับปรุงแก้ไข โดยจะส่งร่างแผนที่ที่ได้มีการปรับปรุงให้กับคู่จังหวัดพิจารณา