พ.ร.บ. ทช. 2558

  • 13 พ.ย. 2563
  • 6,196
พ.ร.บ. ทช. 2558
พ.ร.บ. ทช. 2558
โครงการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด
ความเป็นมา
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับมอบหมายหน้าที่หลักๆ ในเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง ป้องกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ในปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ ทช. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... ตามแผนพัฒนากฎหมายประจำปี พ.ศ. 2549 ไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรียบร้อย เรื่องเสร็จที่ 124/2553 ซึ่งในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน จำนวน 4 ครั้ง การประชุมคณะทำงานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ครั้ง การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากนักกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 ครั้ง การประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จำนวน 1 ครั้ง นอกจากนี้ได้นำเสนอบนเว็บไซต์ www.dmcr.go.th/ ของกรม ทช. เพื่อให้สาธารณะเสนอความคิดเห็นในวงกว้างอีกด้วย
หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ผ่านการพิจารณาเมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ของกรม ทช. อยู่ในช่วงเวลารอคอยที่ยาวนาน เหตุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของกรม ทช. ได้เป็นอย่างดี ก็คือพลังความรักและความสามัคคี รวมทั้งความตะหนักหวงแหนในแหล่งทรัพยากรของพี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ชายฝั่งและจากทุกภาคส่วน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงช่วยกันผลักดัน และกระตุ้นผู้มีอำนาจเป็นระยะๆ จนกระทั่งเวลาที่รอคอยก็มาถึง หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เหมือนกับติดปีกบิน เพราะเพียงระยะเวลาแค่ 7 เดือน ก็ได้รับการพิจารณาจนจบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 21 ก วันที่ 26 มีนาคม 2558 โดยนับระยะเวลาที่รอคอยกว่า 10 ปี มาประสบความสำเร็จในรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ เล่าขานให้ลูกหลานฟังสืบไป นับจากเวลานี้การกระทำและกาลเวลาเท่านั้นคือบทพิสูจน์ความสำเร็จอันแท้จริงในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้ให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป
เหตุผลความจำเป็น
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ประกอบกับได้มีการบุกรุกหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม ประกอบกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีความครอบคลุมเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบางพื้นที่ สมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
หมวดที่ 1
ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบาย
และแผนการบริหารจัดการทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
หมวดที่ 2
ว่าด้วยชุมชนชายฝั่ง
หมวดที่ 3
ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง
หมวดที่ 4
ว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่
หมวดที่ 5
ว่าด้วยบทกำหนดโทษ
โดยมีสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้
  • กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอื่นๆ
  • กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
  • กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง
  • กำหนดกลไกและมาตรการในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนี้
    (1) มาตรการคุ้มครองในกรณีบุคคลก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
    (2) มาตรการคุ้มครองพื้นที่ป่าชายเลน
    (3) มาตรการคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
    (4) มาตรการคุ้มครองในกรณีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤต
    - กำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ (มาตรา 25 – มาตรา 26)
    - มีบทกำหนดโทษในกรณีการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (มาตรา 27 – มาตรา 30)
จุดเด่นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
  1. เป็นกฎหมายเชิงนโยบาย (Policy Law) และการบริหารจัดการ เพื่อประสานและเสริมประสิทธิภาพให้แก่การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งมีมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควบคู่ไปด้วย
  2. การกำหนดหลักการ การบูรณาการ การใช้กฎหมาย โดยหน่วยราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมทั้งสอดคล้องกับสภาพของระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันมีลักษณะที่เป็นระบบและเป็นองค์รวมมิได้แยกส่วนกัน
  3. ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  4. พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ และคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากภาคประชาชน หรือชุมชนชายฝั่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (มาตรา 5, 12, 14, 15)
  5. พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีมาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ชัดเจน (มาตรา 9(3), 21) และให้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (มาตรา 17) และเข้าขั้นวิกฤต (มาตรา 22) ซึ่งการกำหนดมาตรการโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
  6. พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีบทกำหนดโทษที่สูงขึ้นจากกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมายว่าด้วยการประมง เป็นต้น (มาตรา 25 - 27) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ